ปลาร้า หรือ น้ำปลาร้า เป็นเครื่องปรุงรสสำคัญที่แทบทุกบ้านจะขาดไม่ได้ ถึงแม้ว่าปลาร้าจะเป็นอาหารประจำถิ่นของทางภาคอีสานซึ่งคนอีสานเรียกว่าปลาแดก แต่ในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ จนถูกผลิตออกมาจำหน่ายอย่างมากมายหลายแบรนด์ หลายยี่ห้อให้เลือก แต่สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ทานปลาร้าหรือกำลังหัดทานปลาร้าหากเลือกซื้อก็คงจะไม่รู้ว่ามีแบบและควรเลือกแบบไหนดี ดังนั้นเราจึงจะพาทุกคนไปดูว่าปลาร้าแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
น้ำปลาร้า ปลาร้าโหน่ง
เป็นปลาร้าที่มีกลิ่นค่อนข้างแรง การผลิตจะใช้ปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาหมอ ปลาซิว ปลาสร้อย นำมาขอดเกล็ด ควักไส้ล้างทำความสะอาด นำใส่ภาชนะที่เตรียมไว้จากนั้นนำ เกลือ รำข้าวหรือข้าวคั่ว และน้ำต้มอุ่น คลุกส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน แล้วจึงเทใส่ถังที่เตรียมไว้สำหรับหมักปิดฝาถังให้สนิทหมักทิ้งไว้ประมาณ 10 เดือน ถึงจะนำมาทานได้
น้ำปลาร้า ปลาร้าหอม
ปลาร้าประเภทนี้จะมีกลิ่นหอมตามชื่อที่เรียก กลิ่นไม่แรงมากเหมาะกับผู้เริ่มต้นหัดกินปลาร้า การทำจะใช้ปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน เป็นต้น ส่วนผสมในการหมักปลาร้าก็คือ เกลือ ข้าวคั่วหรือรำข้าว นำทั้งหมดมาผสมมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเทใส่ถังหมักปิดฝาให้มิดชิดจากนั้นก็รอเวลาประมาณ 6–10 เดือน ก็ใช้ได้แล้ว โดยปลาร้าชนิดนี้มักจะมีสีน้ำตาลหรือมีสีตามชนิดของปลาที่ใช้หมัก
น้ำปลาร้า ปลาร้านัว
ปลาร้านัวกลิ่นที่ได้จะมีความหอมเหมือนปลาร้าหอมมักจะนิยมนำมาปรุงกับส้มตำมากที่สุดเพราะมีความนัวมาก รสชาติกลมกล่อมปลาที่ใช้ผลิตก็เป็นปลาขนาดกลาง เช่น ปลากระดี่ นำไปหมักกับ เกลือ และข้าวคั่ว หรือรำข้าว ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันเทใส่ถังหมักปิดฝาไว้ประมาณ 5–6 เดือน ก็ได้น้ำปลาร้าที่แซ่บนัวแล้ว โดยน้ำของปลาร้าจะมีลักษณะมีสีน้ำตาลเข้ม
น้ำปลาร้า ที่เรานำมาเป็นเกร็ดความรู้เพื่อใช้พิจารณาก่อนเลือกซื้อเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น เพราะผู้ผลิตแต่ละรายยังมีเทคนิคอีกหลายอย่างเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับปลาร้า เช่น อาจเติมเครื่องปรุงรสเช่น กะปิ น้ำตาล น้ำมะขาม น้ำกระเทียมดอง ลงไปหรือบางเจ้าจะไม่ผสมอะไรเลย เป็นน้ำปลาร้าปรุงต้มสุกอย่างเดียว ดังนั้นก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากให้ดีว่ามีส่วนผสมอะไรบ้างเพื่อที่จะเลือกได้ตรงใจให้มากที่สุด ที่สำคัญควรผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ มี อย.รับรอง ก็จะช่วยทำให้ ปลอดภัย ไม่ท้องเสีย ทานได้อย่างสบายใจมากขึ้น